บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาของบทความต่อไป ข้อพูดถึงคำศัพท์ที่จะเกี่ยวข้องกับข้อเขียนของผมสักนิดหนึ่ง

นักวิชาการ

นักวิชาการ หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ในทางตะวันตกในระดับสูง อย่างน้อยก็ปริญญาตรีขึ้นไป และมีผลงานวิชาการ เช่น บทความ หนังสือ หรืองานวิจัย เป็นต้น เป็นจำนวนมากๆ

นักวิชาการเหล่านี้จะได้อภิสิทธิ์หรืออำนาจหลายๆ ประการ เช่น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ใครก็ได้ในประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทความชิ้นนี้ก็คือ นักวิชาการสามารถตัดสินได้ว่า องค์ความรู้ใดเป็นจริง ไม่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น วิชาการตัดสินว่า นรก-สวรรค์ อิทธิปาฏิหาริย์ไม่เป็นจริง เป็นต้น

นักวิชาการอาจจะแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น ตามสาขาวิชา ก็อาจจะแบ่งเป็นนักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา นักฟิสิกส์ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ต้องการจะแบ่งนักวิชาการ เฉพาะนักวิชาการที่ศึกษาพุทธศาสนาหรือที่ผมชอบเรียกว่า พุทธวิชาการออกตามยุคคือ พุทธวิชาการยุคสมัยใหม่ และพุทธวิชาการยุคหลังสมัยใหม่

พุทธวิชาการยุคสมัยใหม่

พุทธวิชาการยุคสมัยใหม่ หมายถึง พุทธวิชาการที่ไปสมาทานความเชื่อทางวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน แล้วนำความรู้ของวิทยาศาสตร์เข้ามาตัดสินเนื้อหาในพุทธศาสนา

พุทธวิชาการกลุ่มนี้ เมื่อเริ่มจะศึกษาศาสนาพุทธ ก็จะตัดเนื้อหาที่เห็นว่าไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล (Irrationality) ออกไปก่อนเลย

จะเห็นว่า พุทธวิชาการกลุ่มนี้ จะไม่มีการนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเข้ามาอ้างอิงในเนื้อหาทาง วิชาการของตน และพุทธวิชาการเหล่านี้ก็จะไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นพระก็จะไม่มีการสอนปฏิบัติธรรม

พุทธวิชาการกลุ่มนี้บางคนบางพวกมีการเขียนถึงการปฏิบัติธรรมไว้บ้าง เหมือนกัน แต่จะเขียนในทำนองงานวิชาการคือ ตัดตรงโน้นหน่อยมาใส่ ตัดตรงนี้หน่อยมาใส่ จึงไม่มีลักษณะการปฏิบัติธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน

พุทธวิชาการยุคหลังสมัยใหม่

พุทธวิชาการยุคหลังสมัยใหม่ หมายถึง พุทธวิชาการที่เห็นว่า ในการศึกษาสิ่งใดควรศึกษาอย่างเป็นสิ่งนั้น ตามหลักของปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ซึ่งกำลังเป็นองค์ความรู้หลักในการทำวิจัยปัจจุบันนี้

ไม่นำเอาวิทยาศาสตร์แบบนิวตันเข้ามาตัดสินดังเช่นพุทธวิชาการในยุคที่ผ่านมา แต่ก็อาจจะมีบางคนที่นำเอาฟิสิกส์ใหม่เข้าไปศึกษา

วิทยาศาสตร์แบบนิวตัน

วิทยาศาสตร์แบบนิวตัน หมายถึง วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาไปตามแนวทางการศึกษาของนิวตัน กาลิเลโอ และเดส์คาร์ต 

วิทยาศาสตร์ของนิวตันจะเป็นวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งเคยมีความคิดผิดๆ ที่ว่า วิทยาศาสตร์คือ แนวทางเดียวที่สามารถค้นพบความจริงได้ และค้นพบความจริงทางฟิสิกส์หลักๆ ได้แล้ว

ความเข้าใจผิดดังกล่าว จึงได้พิพากษาหรือตัดสินองค์ความรู้อื่นๆ ที่ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ว่าไม่เป็นความจริงทั้งหมด เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องเล่า (myth) ต่างๆ รวมถึงเรื่องนามธรรมเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ จึงถูกปฏิเสธไปหมด

วิทยาศาสตร์แบบนิวตันนี้ มีชื่อเรียกอีกว่า วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอน เนื่องจากจะศึกษาสิ่งใดก็มักจะตัด/แยก/ย่อย สิ่งนั้นออกมาศึกษา โดยคิดว่า เมื่อนำเอาความรู้ที่ได้ทั้งหมดมารวมกัน ก็จะได้องค์ความรู้เป็นความจริงขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการเข้าใจแล้วว่า เป็นความเข้าใจผิด  การศึกษาสิ่งใดจะต้องศึกษาแบบองค์รวม (Holistic) จึงได้ผลการศึกษาที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

ฟิสิกส์ใหม่

ฟิสิกส์ใหม่ หมายถึง วิทยาศาสตร์หลังยุคสมัยใหม่ (Modern) หรือวิทยาศาสตร์ในยุคหลังสมัยใหม่ (post modern) ซึ่งค้นพบว่า วิทยาศาสตร์เก่าเป็นองค์ความรู้ที่คับแคบ ค้นพบได้เฉพาะความจริงเฉพาะที่เท่านั้น

ยุคของฟิสิกส์ใหม่นั้น นับตั้งแต่ไอน์สไตน์เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relative theory) เป็นต้นมา

ทฤษฎีทางฟิสิกส์ใหม่ ที่ยอมรับกันว่า เป็นความจริงมักจะขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์โดยทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ เช่น เชื่อว่ามนุษย์สามารถกลับไปในอดีตได้ ถ้าสามารถผลิตพาหนะที่มีความเร็วกว่าแสงได้ [นักวิทยาศาสตร์คิดว่าในอนาคตคงผลิตได้จริงๆ]

หรือเชื่อว่า มีหลุมดำ (black hole) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไปจะถูกดูดลงไปหลุมดำนี้ทั้งหมด แม้กระทั่งแสงก็ไม่มีโอกาสจะหลุดรอดออกมาได้ เป็นต้น

ลองจินตนาการว่า เราสามารถกลับเข้าไปในอดีตได้จริงๆ ในสมัยต้นรัชกาลที่ 4 แล้วลองไปบอกกับพุทธวิชาการในสมัยนั้นว่า มนุษย์สามารถกลับไปในอดีตได้ ในเอกภพนี้มีหลุมดำ ที่สามารถดูดทุกสิ่งทุกอย่างได้ 

ผมรับรองว่า พุทธวิชาการในยุคนั้นรับไม่ได้อย่างแน่นอน และเรื่องเหล่านั้น ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า นรก สวรรค์ หรือการเวียนว่ายตายเกิด ที่พุทธวิชาการพวกนี้ปฏิเสธไปแล้วเสียอีก

อย่างไรก็ดี องค์ความรู้ของฟิสิกส์ใหม่นี้ ถึงดูจะไม่น่าเชื่อสักเพียงใด แต่นักวิชาการก็ยอมรับกันว่าเป็นความจริง

จักรวาลทัศน์

จักรวาลทัศน์ หมายถึง ความคิดความเชื่อที่เกี่ยวกับระบบจักรวาล ในศาสนาพุทธเชื่อว่า จักรวาลมิได้มีหนึ่งเดียว คือ มีเป็นอนันตจักรวาลคือ นับไม่ถ้วน แต่ละจักรวาลก็จะมีพุทธเจ้าไปประกาศศาสนา

จักรวาลทัศน์นี้ พุทธวิชาการจำนวนมากไม่เข้าใจ เช่น ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า มีทวีปอยู่ 4 ทวีป นั่นหมายถึง ทวีปในจักรวาล ไม่ใช่ทวีปในโลกนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราไม่รู้ว่า จักรวาลตามไตรภูมิพระร่วงนั้นมีขนาดกว้างใหญ่ขนาดไหน

ดังนั้น นรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม รวมถึงนิพพานด้วย เราจึงไม่รู้ว่าห่างจากโลกของเราขนาดไป เรารู้ได้เพียงว่า มีอยู่เท่านั้น 

ดังนั้น การที่พุทธวิชาการบางท่านไปตีความคำว่า ทวีปในพระไตรปิฎกหรือในไตรภูมิพระร่วงเป็นทวีป (Continent) ในโลก แล้วตีความออกมาว่า จักรวาลทัศน์ของศาสนาพุทธไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นความเข้าใจผิดของพุทธวิชาการท่านนั้นๆ เอง เนื่องจากไม่เข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับภาษา

ข้อควรระวังเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ ในภาษาอังกฤษมีศัพท์ว่า ระบบสุริยะจักรวาล [Solar system] กับ เอกภพ [Universe] คำว่าจักรวาลทัศน์ของศาสนาพุทธนั้นจะตรงกับคำว่าเอกภพ [Universe] ของภาษาอังกฤษ

เท่าที่มีการศึกษากันในปัจจุบันนี้ องค์ความรู้ของนักฟิสิกส์ปัจจุบันยอมรับว่า เอกภพ [Universe] มีได้มากกว่าหนึ่งแห่งแล้ว ซึ่งนักวิชาการยังคงใช้คำศัพท์ไม่ตรงกันนัก

บางคนเรียกว่า multi-verse บางคนก็เรียกว่า multi-universe ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นว่า องค์ความรู้ของฟิสิกส์ก็สอดคล้องกับเนื้อหาของพระไตรปิฎก แต่ผมไม่ได้หมายความว่า multi-verse หรือ multi universe คือสิ่งเดียวกับอนันตจักรวาล แต่เห็นว่า มีความรู้ที่สอดคล้องกันเท่านั้น

ปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

ปรากฏการณ์ วิทยา (Phenomenology) เป็นหลักการในการศึกษาและวิจัยที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ วิธีการของปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) นั้น เมื่อจะศึกษาสิ่งใดก็จะไม่นำเอาองค์ความรู้อื่นใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือไป ตัดสิน แต่นักวิชาการนั้น มิได้มีองค์ความรู้เดียว

ฮุสเซิร์ล (Husserl) เจ้าของทฤษฎีจึงแนะนำว่า เวลาจะศึกษาสิ่งใดให้วงเล็บความรู้อื่นๆ เอาไว้ อย่านำไปปะปนกับสิ่งที่ศึกษาเป็นเด็ดขาด เพราะจะทำผลที่ได้รับไม่ตรงตามความเป็นจริง

วิธีการของปรากฏการณ์วิทยาดังกล่าวก็เป็นแนวทางหนึ่งในการเขียนบทความชุดนี้...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น